รพ.มหาสารคามจัดงานรณรงค์วันการได้ยินโลก ปี 2562  ด้านแพทย์เผยปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการสูญเสียการได้ยิน มาจากการใช้ชีวิตที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังมากขึ้น

          นายแพทย์สุดชาย เลยวานิชย์เจริญ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รพ.มหาสารคาม เป็นประธานในพิธีเปิด รณรงค์วันการได้ยินโลก ปี 2562  (Word Hearing Day ๒๐๑๙ ) เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนได้ตระหนักถึงปัญหาการได้ยินและฟื้นฟูการได้ยินตั้งแต่ระยะแรกที่พบความผิดปกติ ณ บริเวณหน้าห้องตรวจ หู คอ จมูก  ชั้น ๒ อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมหาสารคาม โดยมีกิจกรรม ประกอบไปด้วย การตรวจการได้ยิน  การตรวจหู การให้ความรู้  การถามตอบปัญหา และการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการได้ยิน และโรคทางหู ในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และผู้สูงอายุ

นายแพทย์สุดชาย เลยวานิชย์เจริญ เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์ปัญหาการสูญเสียการได้ยินในประเทศไทย ด้านคนพิการในประเทศไทย โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าการออกบัตรประจำตัวคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย มีมากเป็นอันดับ  2  คิดเป็นร้อยละ 18.41 รองจากความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย คิดเป็นร้อยละ 49.77   อายุที่มากขึ้นก็จะพบผู้ป่วยที่มีปัญหาการได้ยินสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้เป็นจำนวนเฉพาะผู้ที่มารับการจดทะเบียนคนพิการ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วปัญหาการได้ยินลดลงในประชากรไทยมีประมาณ 2.7 ล้านคน ซึ่งหากไม่รีบป้องกันและแก้ไข ในอนาคตคนไทยทุกๆ 10 คน อาจจะพบผู้ที่มีปัญหาการได้ยิน 1 คน

แพทย์หญิง ญาณพันธุ์ ถายา หัวหน้ากลุ่มงาน โสต ศอ เปิดเผยว่า สาเหตุของการสูญเสียการได้ยินมีหลายประการ เช่น การอักเสบติดเชื้อของหูหรือเยื่อหุ้มสมอง  ศีรษะได้รับการกระทบกระแทกรุนแรง การสัมผัสเสียงดังๆ การเสื่อมสภาพตามอายุ หรือยาบางชนิดมีฤทธิ์ทำลายหูชั้นใน เป็นต้น

เมื่อก่อนหูน้ำหนวกเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนมีปัญหาสูญเสียการได้ยิน แต่ปัจจุบันเมื่อยาปฏิชีวนะดีขึ้นการเข้าถึงระบบสาธารณสุขดีขึ้นทำให้ปัญหาหูน้ำหนวกลดลง ประกอบกับพฤติกรรมคนเราเปลี่ยนไป มีการใส่หูฟังมากขึ้น มีการแสดง Concert ต่างๆ การแข่งขันกีฬา และกิจกรรมอื่นๆ ที่มีเสียงดัง ทำให้สาเหตุการสูญเสียการได้ยินเปลี่ยนไป นอกจากนี้คนเรามีอายุยืนมากขึ้นประสาทหูเสื่อมจากอายุก็พบมากขึ้นด้วย  แต่ปัจจุบันกลับพบว่าประชาชนส่วนหนึ่งไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาการสูญเสียการได้ยินหรืออันตรายจากการสัมผัสเสียงดัง และไม่เคยได้รับการตรวจการได้ยิน  ซึ่งถ้าประสาทหูเสื่อมแล้วจะไม่มีทางแก้ไขให้เป็นเหมือนเดิมได้  ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะตระหนักถึงความสำคัญของการสูญเสียการได้ยินและพยายามหาทางป้องกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญเสียการได้ยิน เช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการ เช่น สถานบันเทิง ร้านอาหาร หรืองานคอนเสิร์ตที่มีเสียงดังเป็นเวลานานและต่อเนื่อง  รวมถึงกลุ่มคนที่ใช้หูฟังเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือเป็นประจำ หรือวัยรุ่นที่เสียบหูฟังเพื่อฟังเพลงหรือเล่นเกมส์เสียงดังเป็นเวลานาน  เป็นต้น ดังนั้นเพื่อประชาชนหรือผู้ที่ทำงานในที่มีเสียงดังควรตรวจประเมินการได้ยินเป็นระยะ ๆ หรือพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติทางการได้ยิน