ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 ตรวจเยี่ยมการดำเนินการรับมือการระบาดของเชื้อไวรัส Covid – 19 พื้นที่จังหวัดมหาสารคาม พร้อมเยี่ยมและให้กำลังใจบุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่ ณ  รพ.สนามริมห้วย

นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 นายแพทย์อุดม ภู่วโรดม สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 7 คณะผู้บริหารเขตสุขภาพที่ 7 เดินทางมาตรวจเยี่ยม การเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของเชื้อไวรัส Covid – 19 พื้นที่จังหวัดมหาสารคามในช่วงระลอก เมษายน 2564 หลังพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น ณ ห้องประชุมตักสิลา ชั้น 4 อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมหาสารคาม โดยมีนายแพทย์ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานรับมือสถานการณ์ดังกล่าว และการดำเนินการเปิดโรงพยาบาลสนามริมห้วย จังหวัดมหาสารคาม

จากนั้น ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 พร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการให้บริการรักษาประชาชนที่ติดเชื้อเชื้อไวรัส Covid – 19 ณ โรงพยาบาลสนามริมห้วย จังหวัดมหาสารคาม พร้อมให้กำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ ประจำโรงพยาบาลสนาม ในการดูแลรักษาประชาชนต่อไป

โรงพยาบาลสนามริมห้วย  เตรียมพร้อมรับผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ระลอกเมษายน

(14-4-2564)  นายแพทย์ภาคภูมิ  มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และบุคลากร ร่วมประชุมเตรียมความพร้อม เปิดโรงพยาบาลสนามศูนย์ริมห้วย ในการรองรับผู้ป่วยสถานการณ์การระบาดวิด -19 ในระลอกเมษายน  สำหรับโรงพยาบาลสนามริมห้วย โดยโรงพยาบาลมหาสารคาม  มีศักยภาพสามารถรองรับผู้ป่วย โควิด-19 ได้ถึง 96 เตียง หรือหากมีความ จำเป็นอาจจะขยายศักยภาพการรับผู้ป่วยใน เป็น 120 เตียง โดยได้รับการสนับสนุนสถานที่ จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม 2

 

 

รพ.มหาสารคาม จัดซ้อมแผนอุบัติเหตุหมู่ ประจำปี 2564  “สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด”

 

(8-4-2564)นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และบุคลากรร่วมซ้อมแผนอุบัติเหตุหมู่ ประจำปี 2564  “สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด”  เพื่อเตรียมความพร้อมด้านบริการประชาชน เมื่อเกิดสาธารณภัยแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการสื่อสาร การบริหารจัดการ ณ จุดเกิดเหตุ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากหน่วยกู้ชีพ ไปส่งยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพเหมาะสมในพื้นที่ที่กำหนด ตามความสามารถรองรับบริการของโรงพยาบาลเหล่านั้น ถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการกำหนดบทบาทหน้าที่ผู้รับผิดชอบ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุกลุ่มชนนั้น ๆ ขึ้น บุคลากรทั้งหมดจะได้มีความพร้อมและปฏิบัติงานได้จริงและช่วยชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุได้ทันท่วงที

มหาสารคาม ประเดิมฉีดวัคซีนโควิด-19 กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และ อสม. 380 คน

ที่ห้องประชุมชั้น 8 อาคารจอดรถ 9 ชั้น โรงพยาบาลมหาสารคาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับ โรงพยาบาลมหาสารคาม จัดกิจกรรม “วัคซีน…คืนความเข้มแข็งให้จังหวัดมหาสารคาม” เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 380 คน โดยมีนายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์คนแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีน คือ นายแพทย์ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม และนายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม ตลอดจนแพทย์ พยาบาล และอสม เป็นลำดับถัดมา
นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม เปิดเผยว่า จ.มหาสารคาม ได้รับจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดซิโนแวค (Sinovac) จากกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 1,800 โดสแรก เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายเป็นแพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข และ อสม. โดยวันนี้มีการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรการแพทย์ ประกอบด้วย บุคลากร รพ.มหาสารคาม 150 คน อสม.200 คน บุคลากรการแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม 10 คน บุคลากรการแพทย์สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง 20 คน รวม 380 คน ในส่วนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนวันนี้ จะได้รับการนัดมาฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 และเมื่อฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม เจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อมูลเข้าระบบของกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันเป็นผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ซึ่งข้อมูลนี้จะสามารถนำไปใช้ประกอบการขอหนังสือเดินทางไปต่างประเทศ หรือ ประกอบการตรวจสุขภาพอื่น ๆ ได้
สำหรับ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดซิโนแวค (Sinovac) ทั้งหมดนี้ ผ่านการตรวจรับโดยแพทย์ และดูแลระบบโซ่ความเย็นโดยทีมเภสัชกร การจัดเก็บใช้ระบบควบคุมความเย็น ของตู้แช่ยาเย็น ที่มีความปลอดภัยขั้นสูง คงอุณหภูมิที่ 2-8 องศาเซลเซียส มีระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อมีอุณหภูมิเกินที่กำหนด ผ่านระบบ SMS alert และ สัญญานเตือน พร้อมระบบไฟสำรองขนาดใหญ่ของ รพ.มหาสารคาม และหลังจากนี้ จ.มหาสารคาม จะได้รับวัคซีนล็อตใหญ่ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อฉีดให้บุคลากรการแพทย์ อสม. เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และประชาชนชาวมหาสารคาม ที่ลงทะเบียนขอรับวัคซีน ทั้งในกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไปต่อไป

วัคซีน…คืนความเข้มแข็งให้ จ.มหาสารคาม…พร้อมฉีดแล้ว

วัคซีนซินโนแวค ชนิดเชื้อตาย (COVID 19 vaccine vero cell ,inactivated) มาถึงจังหวัดมหาสารคามแล้ว ด้วยการขนส่งระบบประกันอุณหภูมิที่ควบคุมให้อยู่ระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียสโดยได้จัดเก็บวัคซีนไว้ที่โรงพยาบาลมหาสารคามจำนวน 1800 โดส และจะมีการฉีดให้บุคลากรการแพทย์ รพ.มหาสารคาม 150 คน อสม.200 คน บุคลากรการแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม 10 คน บุคลากรการแพทย์สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง 20 คน รวม 380 คน ในวันที่ 8 เมษายน 2564 นี้

ทั้งนี้วัคซีนทั้งหมดผ่านการตรวจรับโดยแพทย์ และดูแลระบบโซ่ความเย็นโดยทีมเภสัชกร การจัดเก็บใช้ระบบควบคุมความเย็น ของตู้แช่ยาเย็น ที่มีความปลอดภัยขั้นสูง คงอุณหภูมิที่ 2-8 องศาเซลเซียส มีระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อมีอุณหภูมิเกินที่กำหนด ผ่านระบบ SMS alert และ สัญญานเตือน พร้อมระบบไฟสำรองขนาดใหญ่ของ รพ.มหาสารคาม และหลังจากนี้ จ.มหาสารคาม จะได้รับวัคซีนล็อตใหญ่ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อฉีดให้บุคลากรการแพทย์ อสม. เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และประชาชนชาวมหาสารคาม ที่ลงทะเบียนขอรับวัคซีน ทั้งในกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไปต่อไป

ศูนย์บริจาคอวัยวะโรงพยาบาลมหาสารคาม ร่วมกับเขตสุขภาพที่ 7 จัดประชุมการพัฒนาการรับบริจาคอวัยวะเขตสุขภาพที่ 7 ประจำปี 2564  “สร้างกุศลผู้ให้  สร้างชีวิตใหม่ผู้รับ”

(31-3-2564)  ที่ห้องประชุมกัลปพฤกษ์  ชั้น 3 อาคารศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก  โรงพยาบาลมหาสารคาม   นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม เป็นประธานในการประชุมประชุมการพัฒนาการรับบริจาคอวัยวะเขตสุขภาพที่ 7 ประจำปี 2564  “สร้างกุศลผู้ให้ สร้างชีวิตใหม่ผู้รับ” ซึ่งศูนย์รับบริจาคอวัยวะ โรงพยาบาลมหาสารคามได้ตระหนักถึงปัญหาจึงได้จัดประชุมการพัฒนาการรับบริจาค อวัยวะเขตสุขภาพที่ 7 เพื่อเสริมสร้างเครือข่าย ประชาส้มพันธ์ ให้ประชาชนเข้าใจเรื่องการบริจาคอวัยวะ โดยคาดหวังให้มีการแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะมากขึ้น  โดยคณะผู้บริหารโรงพยาบาลมหาสารคาม เครือข่ายเหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม สโมสรไลออนส์จังหวัดมหาสารคาม   และผู้ที่สนใจเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้กว่า 50 คน

 

นายแพทย์สมคริต ศรีพลแห่น ประสาทศัลยแพทย์ โรงพยาบาลมหาสารคาม กล่าวว่า ศูนย์บริจาคอวัยวะ โรงพยาบาลมหาสารคาม ได้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2554 และดำเนินการขอรับบริจาคอวัยวะ และดวงตา ผู้ป่วยสมองตาย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ประชาชน ยืนความจำนงบริจาคอวัยวะ  ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาศูนย์ บริจาคอวัยวะมีผลงานเป็นอันดับที่ 20 ของประเทศ โดยมีผู้บริจาคอวัยวะสมองตายทั้งหมด 34 ราย  ได้รับบริจาคจำนวน 40 ดวง และมีผู้นความจำนงบริจาคอวัยวะจำนวน

900 ราย ซึ่งการได้รับบริจาคอวัยวะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วย ที่อวัยวะล้มเหลวได้กว่า 200 คน

 

 

กระทรวงสาธารณสุขมอบของขวัญวันเด็กแห่งชาติ ปี 2564 “สุขภาพดีวิถีใหม่ เด็กไทยสายตาดี” อำเภอเมืองมหาสารคาม

แพทย์หญิงจรัญญา จุฬารี รองผู้อำนวยการด้านยริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลมหาสารคาม พร้อมบุคลากรงานอนามัยโรงเรียน กลุ่มงานเวชกรรมสังคม และงานตรวจตาด้วยเครื่องมือพิเศษ กลุ่มงานการพยาบาลตรวจรักษาพิเศษตา โรงพยาบาลมหาสารคามมอบแว่นสายตาแก่นักเรียนในเขตอำเภอเมืองมหาสารคาม ที่มีสายตาผิดปกติ

ซึ่งโครงการนี้ได้รณรงค์คัดกรองสายตาเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในเขตอำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 1,517 คน ได้รับคัดกรองสายตา จำนวน 1,517 คน พบนักเรียนที่มีสายตาผิดปกติ จำนวน 23 คน ส่งต่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยจักแพทย์หรือทีมจักษุ โรงพยาบาลมหาสารคาม และได้รับแว่นสายตา จำนวน 14 คน คงเหลือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 9 คน ที่ยังไม่ได้รับ การตรวจวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์หรือทีมจักษุ และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2564

สำหรับในปี 2564 นี้ กระทรวงสาธารณสุขมุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาสุขภาพนักเรียนแบบบูรณาการตามแนว วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ในโครงการเด็กไทยสายตาดี โดยรับการสนับสนุนแว่นสายตาเด็กจากห้างแว่นท็อปเจริญ จำนวน 10,000 อัน ด้วยการประสานความร่วมมือจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย และมอบหมายให้โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ทำหน้าที่ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องในการสั่งตัดแว่นสายตาในฐานะเป็น Training Center การฝึกอบรมการคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติและการวัดแว่นสายตาในเด็ก ควบคู่กับการดำเนินการคัดกรองสายตาและมอบแว่นสายตาให้กับนักเรียนในจังหวัดเป้าหมายนำร่องเขตสุขภาพละ 1 จังหวัด

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นกรณีพิเศษ “นพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์” กรณีเสียชีวิตจาก COVID-19 โดยเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอุตสาหะเสียสล

(9 มีนาคม 2564) ที่ ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ท.ภักดี แสง-ชูโต ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้แทนพระองค์ ในการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกเป็นกรณีพิเศษ แก่ นายแพทย์ปัญญา หาญพาณิชย์พันธ์ ซึ่งเสียชีวิตลงด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า นายแพทย์ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ เป็นแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอุตสาหะเสียสละ ตลอดระยะเวลา 35 ปี ที่รับราชการที่โรงพยาบาลมหาสารคาม และเมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ยังคงปฏิบัติหน้าที่แพทย์ต่อไปโดยไม่ย่อท้อ นับเป็นแบบอย่างของผู้มีความศรัทธาเชื่อมั่นในความดี มีความรักในวิชาชีพของตน มีความตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ และมีเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ เมื่อนายปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ เสียชีวิตลงด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากการปฏิบัติหน้าที่แพทย์อย่างเอาใจใส่ โดยเป็นบุคลากรทางการแพทย์คนแรกของประเทศไทย ที่เสียชีวิตจากโรคร้ายนี้ จึงทรงสลดพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก แก่นายปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ เป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม พุทธศักราช 2564 ประกาศ ณ วันที่ 5 มีนาคม พุทธศักราช 2564 เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน

สโมสรไลออนส์มหาสารคาม มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลมหาสารคาม พร้อมรถเข็นแก่ผู้พิการ

(08-03-2564)ที่ห้องประชุมตักสิลา ชั้น 4 อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมหาสารคาม สโมสรไลออนส์มหาสารคาม และสโมสรไลออนส์ชัยสุนทรกาฬสินธุ์ ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิไลออนส์สากล (LCIF) ร่วมกันมอบมอบเครื่องช่วยหายใจจำนวน 2 เครื่อง รถวีลแชร์ จำนวน 4 คัน และชุด PPE จำนวน 60 ชุด ให้แก่โรงพยาบาลมหาสารคาม โดยมีนายธรรมนูญ แก้วคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับนายแพทย์ภาคภูมิ  มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม เป็นผู้รับมอบเครื่องมือแพทย์ดังกล่าว ซึ่ง

ไลออนส์ยุพวรรณ์  สิทธิคงศักดิ์ ผู้ว่าการไลออนส์สากลภาค 310-อี เปิดเผยว่า สโมสรไลออนส์เป็นองค์กรประกอบกิจกรรมสาธารณประโยชน์และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้ยากไร้หรือประสบเคราะห์กรรมทั่วทั้งโลก โดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน และเป็นสื่อกลางที่จะให้บริการแก่ผู้ต้องการความช่วยเหลือจากทั่วไปทั้งโลก ซึ่งการสนับสนุนด้านการแพทย์แก่บุคลากรสาธารณสุข ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพี่น้องประชาชนให้พันทุกข์และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยสโมสรไลออนส์มหาสารคามได้เล็งเห็นว่าเครื่องช่วยหายใจ เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการช่วยหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยวิกฤตได้เป็นอย่างมาก จึงประสานความร่วมมือกับสโมสรไลออนส์ชัยสุนทรกาฬสินธุ์ จนเกิดเป็นโครงการมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ดัวกล่าวขึ้นมา

นอกจากนี้สโมสรไลออนส์ ยังได้มอบรถวีลแชร์จำนวน 4 คัน แก่ผู้พิการร่างกาย หวังให้ได้ดำเนินกิจวัตรประจำวันได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และชุด PPE จำนวน 60 ชุด แก่บุคลากรทางการแพทย์เพื่อป้องกันการสัมผัสกับเชื้อโรค และลดโอกาสติดเชื้อขณะปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย ซึ่งกิจกรรมสาธารณะกุศลของมวลหมู่สโมสรไลออนส์ครั้งนี้ั ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากที่ได้ทำเพื่อสังคม และจะดำเนินการในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามอย่างต่อเนื่องต่อไปในทุกปี

ด้านนายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม โรงพยาบาลมหาสารคาม ปัจจุบันสามารถรองรับผู้ป่วยในได้จำนวน 580 เตียง และดูแลรักษาผู้ป่วยนอกที่เป็นประชาชนทั้งในจังหวัดมหาสารคามและใกล้เคียงได้ประมาณ 1,500 คนต่อวัน และสามารถรองรับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจในห้องแยกโรคได้ถึง 28 เตียง โดยมีห้องความดันลบ 1 ห้อง และห้องแยกผู้ป่วยแบบประยุกต์ 7 ห้อง พร้อมบุคลากรการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีห้องผ่าตัด 12 ห้อง พร้อมด้วยแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งการได้รับอุปกรณ์ทางการแพทย์และชุด PPE  จากสโมสรไลออนส์ครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินหรือผู้ป่วยวิกฤตได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

 

 

ทั้งนี้ สโมสรไลออนส์สากล เป็นองค์กรการกุศลระดับโลก ที่มีเครือข่ายสมาชิก ใน 210 ประเทศ ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1917 โดยมีพันธกิจสำคัญ คือ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ หิวโหย ผู้ที่ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ เด็ก เยาวชน สตรี คนชรา และผู้เจ็บป่วย โดยไม่หวังผลตอบแทน ในส่วนของประเทศไทยมีสมาชิกมากกว่า 7,000 คน กระจายอยู่เกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ

เขตสุขภาพที่ 7 ประชุมสรุปผลการตรวจราชการ จังหวัดมหาสารคาม ในระหว่างวันที่ 3-5 มีนาคม 2564

ที่ห้องประชุมตักสิลา โรงพยาบาลมหาสารคาม นายแพทย์อุดม ภู่วโรดม สาธารณสุขนิเทศก์ และคณะตรวจราชการนิเทศงานกรณีปกติ ประจำปีงบประมาณ 2564 รอบที่ 1/2564 และคณะตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 7 ร่วมประชุมสรุปผลการตรวจราชการ จังหวัดมหาสารคาม ในระหว่างวันที่ 3-5 มีนาคม 2564
โดยมี นายแพทย์สุดชาย เลยวานิชย์เจริญ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมหาสารคาม นายแพทย์ประเสริฐ ศรีสารคาม รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ แพทย์หญิงจรัญญา จุฬารี รองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิ คุณคนึงนิจ ศรีษะโคตร รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล คุณกันตา คำพอ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร และคณะผู้บริหาร บุคลากรโรงพยาบาลมหาสารคาม เข้าร่วมรับฟังข้อเสนอแนะจากคณะตรวจราชการฯ เพื่อนำมาพัฒนาระบบสาธารณสุขและดูแลสุขภาพประชาชนในจังหวัดมหาสารคาม โดยพร้อมเพรียงกัน