รพ.มหาสารคาม เปิด “คลินิกกัญชาทางการแพทย์”

รพ.มหาสารคาม เปิด “คลินิกกัญชาทางการแพทย์” ให้บริการคำปรึกษา-ตรวจ-รักษา ด้วยสารสกัดกัญชา โดยแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่ผ่านการอบรมจากกระทรวงสาธารณสุข

 

ที่อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมหาสารคาม แพทย์หญิงวิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 เป็นประธานในพิธีเปิด “คลินิกกัญชาทางการแพทย์ โรงพยาบาลมหาสารคาม” บริการให้คำปรึกษา ตรวจและรักษาด้วยตำรับยาที่มีส่วนผสมของกัญชาอย่างปลอดภัยภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและใกล้เคียงเข้าถึงการรักษาด้วยกัญชาเพิ่มมากขึ้น โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม  และแพทย์ พยาบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวนกว่า 80 คน

พญ.วิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายให้โรงพยาบาลจัดให้มีบริการกัญชาทางการแพทย์ โดยผสมผสานแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย รักษาตามข้อบ่งชี้การใช้กัญชาทางการแพทย์ในสองกลุ่ม คือ 1.ในกลุ่มโรคที่ได้ประโยชน์ในการรักษา อันประกอบด้วย ๕ โรค ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และภาวะปวดประสาทจากระบบประสาทส่วนกลางที่ดื้อต่อยารักษา และ 2.การใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ในกลุ่มโรคที่น่าจะได้ประโยชน์ในการรักษา เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง  ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โรคพาร์กินสัน เป็นต้น ซึ่งการใช้สารสกัดกัญชาในผู้ป่วยกลุ่มโรคดังกล่าว จะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์และสหวิชาชีพที่ผ่านการอบรมมาแล้วจากกระทรวงสาธารณสุข

 

ด้าน นพ.ภาคภูมิ  มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม กล่าวว่า รพ.มหาสารคาม ได้เล็งเห็นความสำคัญของการให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะการใช้กัญชาทางการแพทย์ ที่กำลังให้ความสนใจจากผู้ป่วย จึงได้เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ รพ.มหาสารคาม ขึ้น โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทีมบุคลากรสหวิชาชีพที่ผ่านการอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์ คอยบริการให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำและตรวจรักษา  ตามเกณฑ์ข้อบ่งชี้การใช้กัญชาทางการแพทย์  โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ นอกจากนี้ รพ.มหาสารคาม ยังบูรณาการให้บริการกัญชาทางการแพทย์แผนไทยตามข้อบ่งชี้การใช้สารสกัดกัญชา ที่ผสมผสานกับยาตำรับสุขไสยาสน์ และตำรับทำลายพระสุเมรุให้แก่ผู้ป่วย เช่น ผู้ที่มีอาการเบื่ออาหาร เครียด นอนไม่หลับ ริดสีดวงทวารหนัก สะเก็ดเงิน เป็นต้น  โดยผู้ป่วยและประชาชนที่สนใจสามารถเข้ารับบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ รพ.มหาสารคาม ได้ทุกวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 08.00 น.- 12.00 น.

 

สำหรับ รพ.มหาสารคามเป็น 1 ใน 71 โรงพยาบาล ที่ดำเนินงานด้านการใช้กัญชาทางการแพทย์ในสถานบริการสุขภาพ และมีความพร้อมในการจัดตั้งคลินิกกัญชาทางการแพทย์ โดยการให้บริการจะใช้รูปแบบผสมผสานแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย  ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคว่ามีความจำเป็นต้องได้รับสารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์  ตามข้อบ่งชี้การใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงบริการให้คำปรึกษา และความรู้เกี่ยวกับการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ จากทีมแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

คลินิกกัญชาทางการแพทย์

วัน-เวลา การให้บริการ

ให้คำปรึกษาด้านการใช้สารสกัดจากกัญชา

วันอังคาร เวลา 08.00 น. – 12.00 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ

ติดต่อเรา

โทรศัพท์ 043-711750

สถานที่ตั้ง

ห้องตรวจคลินิกแพทย์เฉพาะทางนอกเวลาราชการ (ข้างห้องประชาสัมพันธ์) ชั้น 1 อาคารผู้ป่วยนอก

แนวทางการรับยากัญชาเพื่อการรักษาโรงพยาบาลมหาสารคาม

ข้อบ่งชี้ในการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา แพทย์แผนปัจจุบัน

ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้ประโยชน์

  1. ภาวะคลื่นไส้/อาเจียนจากยาเคมีบำบัด
  2. โรคลมชักที่รักษายากและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา
  3. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  4. ภาวะปวดประสาทจากระบบประสาทส่วนกลางที่ดื้อต่อยารักษา

ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์น่าจะได้ประโยชน์(ในการควบคุมอาการ)

  1. ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง
  2. ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
  3. โรคพาร์กินสัน
  4. โรคอัลไซเมอร์
  5. โรควิตกกังวลไปทั่ว
  6. โรคปลอกประสาทอักเสบอื่นๆ

ข้อบ่งชี้ในการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาแพทย์แผนไทย

  1. มีอาการเบื่ออาหาร/เครียด/นอนไม่หลับ/อ่อนเพลีย
  2. ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
  3. ภาวะหลอดเลือดและเส้นประสาทส่วนปลายผิดปกติ ที่ทำให้มีอาการชา
  4. จุกแน่นท้อง/ท้องผูก/พะอืดพะอม
  5. ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ/โรคออฟฟิศซินโดรม/ไมเกรน
  6. บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ระดับคงที่
  7. ริดสีดวงทวารหนัก/สะเก็ดเงิน

ข้อห้ามในการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา

  1. ผู้ที่มีประวัติแพ้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสกัดกัญชา
  2. ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดขั้นรุนแรงหรือไม่สามารถคุมอาการได้
  3. ผู้ที่เป็นโรคจิตมาก่อนหรือมีอาการของโรคอารมณ์แปรปรวนหรือโรควิตกกังวล
  4. สตรีมีครรภ์,สตรีที่ให้นมบุตรรวมถึงสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ไม่ได้คุมกำเนิดหรือสตรีที่วางแผนจะตั้งครรภ์
  5. ผู้ป่วยโรคตับและไต
  6. ผู้ป่วยที่ติดสารเสพติดรวมถึงนิโคตินหรือเป็นผู้ดื่มสุราอย่างหนัก

ผู้ป่วยที่ประสงค์รับยากัญชา

1.ต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์เจ้าของไข้

2.กรณีเป็นผู้ป่วยรายใหม่ ต้องนำประวัติการรักษามาให้แพทย์พิจารณา