สภากาชาดไทย จัดโครงการศัลยกรรมตกแต่งแก้ไขปากแหว่ง-เพดานโหว่และความพิการอื่น ณ จังหวัดมหาสารคาม
สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย จัดโครงการศัลยกรรมตกแต่งแก้ไขปากแหว่ง-เพดานโหว่และความพิการอื่น ณ จังหวัดมหาสารคาม
(27-5-2562) ที่ห้องประชุมตักสิลา ชั้น 4 อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมหาสารคาม นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดโครงการศัลยกรรมตกแต่งแก้ไขปากแหว่ง-เพดานโหว่และความพิการอื่น เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวและเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข โดยสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ได้ประสานความร่วมมือกับ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม และโรงพยาบาลมหาสารคาม ในการดำเนินโครงการในครั้งนี้ ซึ่งมีผู้ป่วยที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 75 ราย เป็นผู้ป่วยปากแหว่ง-เพดานโหว่ จำนวน 20 ราย ความพิการอื่น จำนวน 55 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาในเขตจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 71 ราย ต่างจังหวัด จำนวน 4 ราย และมอบเงินสำหรับผู้ป่วยฯ โดยแยกเป็นผู้ป่วยปากแหว่ง-เพดานโหว่ รายละ 1,000 บาท และผู้ป่วยพิการอื่น ๆ รายละ 700 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการพักฟื้นหลังการผ่าตัด โดยจะทำการผ่าตัด ณ โรงพยาบาลมหาสารคาม ระหว่างวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2562
นายแพทย์สุนทร ยนต์ตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม กล่าวว่า โรคปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นความพิการของใบหน้าแต่กำเนิดที่พบมากที่สุด โดยมีอัตราการเกิดความพิการปากแหว่ง ประมาณ 1 ต่อ 650 ของทารกเกิดมีชีพ และความพิการเพดานโหว่ ประมาณ 1 ต่อ 2,500 ต่อทารกเกิดมีชีพ ความพิการนี้ทำให้ทารกมีความยากลำบาก ในการดูดนมและรับประทานอาหาร มีการสำลักอาหาร ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น ปอดบวม หูน้ำหนวกในด้านการออกเสียงลักษณะเสียงขึ้นจมูกทำให้พูดไม่ชัด และรูปลักษณ์ภายนอกที่พิการ เป็นปมด้อย นอกจากนี้ยังมีความพิการทางศัลยศาสตร์ตกแต่งอื่น ๆ เช่น แผลเป็นหดรั้งจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก นิ้วติด นิ้วเกิน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม
สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้ระดมอาสาสมัครสภากาชาดไทย ประกอบด้วยศัลยแพทย์ตกแต่ง ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ วิสัญญีแพทย์และพยาบาลอาสาสมัครจากที่ต่าง ๆ รวมทั้งหน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้าง ภาควิชาศัลยศาสตร์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งสิ้น 35 คน และโรงพยาบาลมหาสารคามได้จัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและพยาบาลร่วมในการดูแลรักษา พร้อมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือวัสดุ เวชภัณฑ์ในการดำเนินการในครั้งนี้