นอนกรน !!!อย่านอนใจ
โรคนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ (ObstructiveSleep Apnea, OSA)
เป็นโรคที่เกิดจากการตีบแคบของทางเดินหายใจขณะหลับ เกิดภาวะขาดออกซิเจนเป็นช่วงๆ และการหยุดหายใจจะสิ้นสุด โดยการตื่นตัว ของสมองเป็นช่วงสั้นๆทำให้สะดุ้งเฮือก ขณะหลับ (arousal) และการนอนหลับขาดตอนเป็นช่วงๆ มีผลต่อการ ทำงานของสมอง และเกิดอาการง่วงตอนกลางวัน โรคนี้สามารถเป็นได้ในคนทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ในเด็กมักเกิดจากต่อมทอนซิลโตหรือปัญหาโครงสร้างใบหน้า หรือเด็กอ้วน ส่วนในผู้ใหญ่พบในเพศชายมากกว่า ส่วนเพศหญิง พบมากเมื่อเข้าสู่วัยทองและพบมากขึ้นเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี หรือมีภาวะอ้วน (BMI มากกว่า 25) ในทั้งสองเพศ
สัญญาณเตือน ว่าคุณอาจมีโรคนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ
- นอนกรนเสียงดังเป็นประจำ
- ญาติสังเกตเห็น ขณะนอนหลับมีหยุดหายใจเป็นพักๆ
- ง่วงนอนกลางวันมาก บางครั้งเผลอหลับไปในสถานการณ์ ที่ไม่สมควร เช่น ขณะขับรถ ขณะอยู่ในห้องประชุม
- ไม่มีสมาธิในการทำงาน ขี้ลืม หงุดหงิดง่าย
- ตื่นมาคอแห้ง เจ็บคอ เนื่องจากนอนอ้าปากหายใจ มีปวดศีรษะ หรือคลื่นไส้
- ความต้องการทางเพศลดลง
- ปัสสาวะรดที่นอนในเด็กโต หรือปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนในผู้ใหญ่
โรคนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ มีผลต่อร่างกายอย่างไร
- ภาวะง่วงนอนผิดปกติ เช่น ขณะทำงานหรือหลับในขณะขับรถ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุขณะทำงานที่ต้องใช้สมาธิหรืออุบัติเหตุบนท้องถนนได้
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือดฉับพลัน โรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองแตก หรืออุดตัน โรคซึมเศร้า และโรคอื่นๆ ตามมาได้
ทราบได้อย่างไร? ว่าเป็นโรคนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ
หากคุณมีอาการดังกล่าวข้างต้นหรืออายุมากกว่า 40 ปี หรือมีภาวะอ้วน (BMI >25) ควรไปพบแพทย์โสต ศอ นาสิก หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการนอนกรน เพื่อรับการตรวจ ซักถามอาการต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น และอาจพิจารณาส่งตรวจ การนอนหลับ (Polysomnography, PSG) เพื่อประเมินว่าหากมี โรคนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับจริง จะมีความรุนแรงของโรค อยู่ในระดับใด (น้อย ปานกลาง รุนแรง) เพื่อหาแนวทางการรักษา ที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้ป่วยต่อไป
การรักษาเฉพาะโรค
- การใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Positive Airway Pressure: PAP) ปัจจุบันถือว่าเป็นการรักษาหลัก และเป็น การรักษาที่ได้ผลดีมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความรุนแรง ปานกลาง และรุนแรงมาก
- การใส่อุปกรณ์ทางทันตกรรม เหมาะสำหรับกลุ่มที่รุนแรงน้อย หรือรุนแรงปานกลาง
- การผ่าตัดแก้ไขทางเดินหายใจในส่วนต่างๆที่มีภาวะตีบแคบ เช่น การผ่าตัดต่อมทอนซิล (โดยเฉพาะในเด็ก) การผ่าตัดแก้ไข ผนังกั้นจมูกคด/เพดานอ่อน/กระดูกกราม โดยผลของการ ผ่าตัดอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
- การจี้ด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency ablation) เพื่อลดความบวมของผนังจมูก หรือเพิ่มความแข็งแรงของ เพดานอ่อนและให้เพดานอ่อนหดตัว หรือลดขนาดของโคนลิ้น ปัจจุบันเป็นที่นิยมมากขึ้น
รับคำปรึกษา และรักษาได้ที่ คลินิกตรวจการนอนหลับ โรงพยาบาลมหาสารคาม