โรงพยาบาลมหาสารคาม ร่วมกิจกรรม“แสงนำใจ ไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 8 เฉลิมพระเกียรติ จ.มหาสารคาม

(30-10-2565 )  ที่บริเวณแก่งเลิงจาน ตำบลแก่งเลิงจาน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม นายแพทย์ประเสริฐ  ศรีสารคาม  รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์  พร้อมด้วยบุคลากร เ ข้าร่วมงาน “แสงนำใจ ไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 8 เฉลิมพระเกียรติ  “แผ่นดินไทย ไร้สโตรค”

โดยมีนายเกียรติศักดิ์  ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในพิธี นำหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตรโครงการโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ได้กำหนดจัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 21-30 ตุลาคม 2565 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ที่ทรงเป็นดั่งแสงนำใจของคนไทยทั้งชาติ ทรงเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนชาวไทยในการรักษาสุขภาพ ส่งเสริมกิจกรรมออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพดีห่างไกลโรค ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย การรักษาและลดภาระของปัญหาโรคเรื้อรัง โดยให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย และทุกหมู่คณะ มีโอกาสออกกำลังกายอย่างง่ายๆ  เช่น การเดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยาน โดยรายได้จากการจำหน่ายชุดแข่งขัน และการบริจาคหลังหักค่าใช้จ่าย ร้อยละ 50 มอบให้แก่มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เพื่อใช้ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่งทั่วประเทศ ดูแลสุขภาพประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารได้อย่างเท่าเทียมกัน และร้อยละ 50 มอบให้เขตสุขภาพและจังหวัดในพื้นที่ที่ร่วมโครงการแสงนำไทยทั้งชาติ ฯ เพื่อนำเงินเข้ากองทุน/มูลนิธิเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง

สำหรับกิจกรรมภายในงาน “แสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาตครั้งที่ 8 เฉลิมพระเกียรติ” จังหวัดมหาสารคาม ประกอบด้วย 1.)การเดิน วิ่ง ปั่น (Overall) ชาย/หญิง ระยะทาง 10.4 กิโลเมตร (รอบแก่งเลิงจาน) 2.การเดิน วิ่ง ปั่น (Fun Run) ระยะทาง 5.4 กิโลเมตร

ดร.นพ.สมชายโชติ  ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า จากรายงานการศึกษาโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พบว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตจาก โรคหลอดเลือดและหัวใจทั่วโลกประมาณ 16.7 ล้านคนต่อปี ในจานวนนี้เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง ประมาณ 5.5 ล้านคน โดยกว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยโรคนี้เกิดในประเทศกำลังพัฒนา ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 1,880 คน ต่อประชากรจำนวนหนึ่งแสนคน หรือร้อยละ 2 ซึ่งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในเพศหญิงและอันดับสามในเพศชาย รองจากอุบัติเหตุและ โรคมะเร็ง นอกจากนั้น โรคนี้ยังมีอัตราความพิการสูง การศึกษาในประเทศไทยพบว่า ในผู้ป่วย 100 คน ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะเสียชีวิตร้อยละ 5 และพิการร้อยละ 70 ซึ่งนอกจากความพิการทางกายแล้ว ยังมีผลทำให้ความจำเสื่อมในภายหลังอีกด้วย ถ้าประชาชนขาดความรู้ด้านการป้องกันหรือรักษาอย่างถูกวิธี โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ร้อยละ 90 ถ้าสามารถปรับพฤติกรรมเสี่ยงความเสี่ยงได้

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ ขับเคลื่อนโครงการฯผ่านเขตสุขภาพ 13 แห่ง ทั่วประเทศ ในการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ กิจกรรมให้ความรู้โรคหลอดเลือดสมอง และกิจกรรม ออกกำลังกายเดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ในทุก 77 จังหวัด ทั้งประเทศที่มาร่วมจัดงานพร้อมกัน เพื่อเป็นการตอกย้ำความสำคัญของการออกกำลังกายในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง