รพ.มหาสารคาม จัดรณรงค์วันการได้ยินโลก World Hearing Day  2020 “ไปให้สุด อย่าหยุดเพียงแค่ไม่ได้ยิน” ตรวจการได้ยินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ป้องกันและรักษาปัญหาทางการได้ยินหรือทำให้ประสาทหูเสื่อม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต

ที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองสามัคคี เครือข่ายโรงพยาบาลมหาสารคาม  นายแพทย์ภาคภูมิ  มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์วันการได้ยินโลก World Hearing Day  2020 “ไปให้สุด อย่าหยุดเพียงแค่ไม่ได้ยิน” เพื่อให้บริการประชาชนที่มีปัญหาด้านการได้ยินในเขตชุมชนเมืองมหาสารคาม และลดความแออัดในการให้บริการที่ห้องตรวจหู คอ จมูก ในโรงพยาบาลมหาสารคาม ซึ่งจะทำให้ประชาชนในชุมชนสามารถเข้าถึงบริการได้มากยิ่งขึ้น  โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การตรวจคัดกรองทาง หู คอ จมูก ,ตรวจการได้ยิน ,การให้ความรู้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  ให้บริการประชาชนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย การจัดนิทรรศการ และการถาม ตอบปัญหาต่าง ๆ โดยมีประชาชนและผู้สูงอายุ ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวนกว่า 120 คน

นายแพทย์ภาคภูมิ  มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม  เปิดเผยว่า วันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันการได้ยินโลก ซึ่งปัญหาการสูญการได้ยินเป็นปัญหาสำคัญ ด้านสาธารณสุข ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกช่วงวัย นานาประเทศร่วมกันรณรงค์ เรื่องการฟังอย่างปลอดภัย (Make listening safe) ในประเทศที่กำลังพัฒนามีจำนวนผู้ป่วยที่สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยมีผู้ป่วยและผู้พิการทางการได้ยินสูงเป็นอันดับสองของผู้พิการทั้งหมด โดยเฉพาะประเทศไทยที่เข้าสู่ภาวะผู้สูงวัย ทำให้อัตราผู้ที่มีปัญหาการได้ยินสูงมากขึ้น ส่งผลกระทบในทุก ๆ ด้าน เช่น การได้ยิน การสื่อสาร การแยกตัวออกจากสังคม ซึมเศร้า โรคหลงลืม และสมองเสื่อม  มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

ในเด็กทารกที่มีปัญหาการได้ยิน จะกระทบพัฒนาการด้านภาษา การสื่อสาร การเรียนรู้ การเข้าสู่สังคม และขาดโอกาสต่างๆในชีวิต  ในวัยรุ่นและวัยทำงานที่อยู่ในสถานที่มีเสียงดังมาก การฟังเพลง การเล่นเกมส์ โดยใช้หูฟังนานส่งผลให้เกิดการสูญเสียการได้ยินจากเสียงที่ดัง .ในส่วนผู้สูงอายุที่ไม่สามารถได้ยินได้ชัด อาจนำมาซึ่งปัญหาการสื่อสารกับบุคคลรอบข้าง เพื่อนฝูง และบุคคลในครอบครัว ผู้สูงอายุบางราย อาจปลีกตัว หลีกเลี่ยงการออกไปพบปะเพื่อนฝูง เพราะการพบปะผู้คนภายนอก จะทำให้ปัญหาการสื่อสารทวีความรุนแรงขึ้นมากได้

สำหรับประเทศไทยมีประชาชนเป็นโรคประสาทหูเสื่อมถึงร้อยละ 15 (ประมาณ ๙ล้านคน) นับเป็นปัญหาใหญ่ในการแก้ไขฟื้นฟูความบกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งใช้งบประมาณสูงมาก  ดังนั้นการส่งเสริมให้ประชาชนได้ดูแลสุขภาพ ป้องกันการสูญเสียการได้ยิน และการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี ชะลอการเกิดโรคประสาทหูเสื่อม และเร่งฟื้นฟูการได้ยิน  ให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพเป็นปกติสุขต่อไป

ด้านแพทย์หญิง ญาณพันธุ์ ถายา  หัวหน้ากลุ่มงาน โสต ศอ นาสิก  กล่าวว่า ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมรอบด้าน มีเสียงดังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่เกิดจากการทำงาน หรือเสียงจากสิ่งแวดล้อมในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น เสียงเครื่องจักรกล เสียงรถวิ่ง เสียงจากงานรื่นเริงต่างๆ เป็นต้น การได้ยินเสียงดังๆในระยะเวลานานๆ มีผลทำให้มีปัญหาทางการได้ยินหรือทำให้ประสาทหูเสื่อมได้ ซึ่งจากผลดำเนินการห้องตรวจหู คอ จมูก โรงพยาบาลมหาสารคาม ย้อนหลัง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่ายอดผู้รับบริการที่มีปัญหาด้านการได้ยิน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  ดังนี้ ปี 2560 จำนวน 2,101 ราย ปี 2561 จำนวน 2,258  ราย ปี 2562 จำนวน 2,318  ราย

ดังนั้น กลุ่มงานโสต ศอ นาสิก จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการได้ยิน จึงได้จัดทำโครงการขึ้น โดยผู้รับบริการในกิจกรรมครั้งนี้ จะได้รับการตรวจรักษาจากโสต ศอ นาสิก แพทย์ จำนวน 100 คน ในจำนวนนี้หากประสาทหูเสื่อมเข้าเกณฑ์ผู้พิการ จะได้ใบรับรองความพิการและได้เครื่องช่วยฟัง นับว่าเป็นภารกิจที่สำคัญและต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที จากแพทย์ผู่เชี่ยวชาญด้านหูและการได้ยิน เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามมากขึ้นไป