รพ.มหาสารคาม จัดโครงการ อย.น้อย คุ้มครองผู้บริโภคดูแล ห่วงใย ใส่ใจชุมชน ปี 2565

ที่ห้องประชุมตักสิลา อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมหาสารคาม นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม เป็นประธานเปิดโครงการ อย.น้อย คุ้มครองผู้บริโภคดูแล ห่วงใย ใส่ใจชุมชน ปี 2565 โดยมีแพทย์หญิงจรัญญา จุฬารี รองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิโรงพยาบาลมหาสารคาม เป็นผู้กล่าวรายงาน มีคณะครู นักเรียนโรงเรียนผดุงนารี อำเภอเมืองมหาสารคาม  และเครือข่ายบริการสุขภาพ รพ.สต./ศสม. อำเภอเมืองมหาสารคามเข้าร่วม

ทั้งนี้ โครงการ อย.น้อย คุ้มครองผู้บริโภคดูแล ห่วงใย ใส่ใจชุมชน ปี 2565 จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการป้องกันควบคุมโรคและลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ พัฒนาศักยภาพเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค (อย. น้อย) ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและบริการสุขภาพ   แก่เครือข่ายโรงเรียนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาโรงเรียนอาหารปลอดภัย (Food Safety School) และโรงเรียนยาปลอดภัย (RDU School) ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคยา อาหาร เครื่องสำอาง สมุนไพรและผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ถูกต้อง

นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม เปิดเผยว่า การดำเนินงาน อย. น้อย ในโรงเรียนและพัฒนาระดับความสำเร็จของเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค (อย. น้อย) ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและบริการสุขภาพระดับอำเภอที่มีความเข้มแข็ง มุ่งเน้นให้นักเรียนมีความรอบรู้ ความเข้าใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องการบริโภค การเลือกซื้อและอ่านฉลากยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องสำอาง อาหาร และสมุนไพร เพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เฝ้าระวังและจัดการปัญหาผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัยในโรงเรียนได้ และอีกประเด็นที่สำคัญ คือ การใช้ยาอย่างสมเหตุผลโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง (RDU Community) เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านยาสมเหตุผล (RDU Literacy) ให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพและจัดการปัญหาด้านยาอย่างเป็นระบบและความรอบรู้ด้านอาหารปลอดภัย (Food Safety Literacy) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนในชุมชนเกิดการตื่นตัวในชุมชนมีความรู้ ความเข้าใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องการบริโภค การเลือกซื้อและอ่านฉลากยา การเฝ้าระวังยาที่ไม่ปลอดภัยในชุมชน และในฐานะผู้บริโภคนักเรียนยังไม่เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ในเรื่องการปกป้องสิทธิของตนเอง วิธีการ กระบวนการ รวมถึงแนวปฏิบัติที่มีความเป็นไปได้แก่นักเรียนในการที่จะดำเนินการต่อเนื่อง ภายหลังจากตรวจสอบอาหาร ยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รวมพลังในการปกป้องสิทธิ ซึ่งจะเป็นประโยชน์นอกจากต่อตัวนักเรียนเองแล้วยังเป็นประโยชน์ต่อชุมชน และสังคมโดยรวมอีกด้วย เป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ตระหนักถึงผลเสียและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาต่อธุรกิจและภาพลักษณ์ของตนเอง

อำเภอเมืองมหาสารคาม  ในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมามีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมโรงเรียน อย.น้อย จำนวน 77 แห่ง และผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐานโรงเรียน อย.น้อย ดังนี้ โรงเรียนมัธยม จำนวน 8 แห่ง ผ่านเกณฑ์ระดับดีมาก จำนวน 7 แห่ง และระดับพอใช้ 1 แห่ง   โรงเรียนประถมจำนวน 53 แห่ง ผ่านเกณฑ์ระดับดีเยี่ยม จำนวน 1 แห่ง (โรงเรียน พระกุมารมหาสารคาม ) ระดับดีมากจำนวน 15 แห่ง ระดับดีจำนวน 34 แห่ง และระดับพอใช้ จำนวน 3 แห่ง  ด้านโรงเรียนประถมขยายโอกาส จำนวน 16 แห่ง ผ่านเกณฑ์ระดับดีมาก จำนวน 7 แห่ง  และผ่านเกณฑ์ระดับดีจำนวน 9

แพทย์หญิงจรัญญา จุฬารี รองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิโรงพยาบาลมหาสารคาม กล่าวว่า งานคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลมหาสารคาม ให้ความสำคัญกับการดำเนินงาน อย.น้อย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักเรียน อย.น้อย จะเป็นเครือข่ายที่ “ทรงพลัง” ในการเผยแพร่ความรู้ตลอดจนช่วยตรวจสอบอาหาร ยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมถึงรณรงค์ให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพได้แก่ อาหาร ยา และเครื่องสำอางที่เหมาะสมปลอดภัยมากขึ้น  ขยายจากโรงเรียนไปชุมชนใกล้เคียงและขยายผลไปทั่วประเทศ ซึ่งจะสร้างเสริมให้นักเรียนและประชาชนทั่วไป มีพฤติกรรมการบริโภคที่ดีต่อไปในอนาคต