สสจ.มหาสารคาม ร่วมกับ รพ.มหาสารคาม จัดงาน Kick off ส่งมอบสุขภาพดีให้ผู้สูงอายุ มอบบริการและวัสดุอุปกรณ์เพื่อการดูแลสุขภาพ เพิ่ม “ความสุข” ให้แก่ผู้สูงอายุมหาสารคาม
ที่อาคารผู้ป่วยนอกชั้น 2 โรงพยาบาลมหาสารคาม ดร.นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Kick off ส่งมอบสุขภาพดีให้ผู้สูงอายุ เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงการเป็นสังคมสูงวัย การส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่จะทำงานด้านผู้สูงอายุให้เพียงพอ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุให้ได้รับบริการอย่างเหมาะสม ซึ่งการดำเนินงานเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายมุ่งเน้น เพื่อให้“ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทั่วถึง” อันจะเป็นการสนับสนุนให้ ทั้งครอบครัวมีพลังในการดำเนินชีวิต และใช้ความเข้มแข็งทางสุขภาพเป็นต้นทุน ในการสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจของประเทศ อันจะนำไปสู่เป้าหมาย “ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง” เพราะเมื่อผู้สูงอายุได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ลูกหลานในครอบครัว ก็ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง โดยกระทรวงสาธารณสุข หวังเป็นอย่างยิ่งว่า “ของขวัญปีใหม่”ซึ่งมาจากนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุนี้ จะส่งเสริมทั้ง “สุขภาพ” และเพิ่ม“ความสุข” ให้แก่คนมหาสารคาม
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2564 ประเทศไทย มีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.8 ของประชากรทั้งประเทศ จังหวัดมหาสารคาม ประชากรผู้สูงอายุตามทะเบียนราษฎร์ (23 มค.66) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้ง เชิงปริมาณและอัตราร้อยละ จะเห็นได้จากปี 2566 จำนวน 195,455 คน ร้อยละ 20.61 ปี 2565 จำนวน 177,793 คน ร้อยละ 18.74 ผู้สูงอายุที่ได้รับการคัดกรองด้านสุขภาพ ร้อยละ 72.52 พบว่า กลุ่มติดสังคม ร้อยละ 95.60 กลุ่มติดบ้าน ร้อยละ 3.89 กลุ่มติดเตียง ร้อยละ 0.51 และมีภาวะเสี่ยงสูงที่จะเป็นสมองเสื่อม ร้อยละ 0.95 เสี่ยงหกล้มร้อยละ 3.94 โรคพบบ่อยและสำคัญ พบว่ามีความเสี่ยงสูง ที่เป็นโรคหัวใจหลอดเลือด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ร้อยละ13.01, 1.12 และ 6.79 ตามลำดับ ภาวะโภชนาการ พบว่ามีภาวะผอมร้อยละ 11.65 อ้วนและอ้วนอันตราย ร้อยละ 4.83 เป็นปีที่คาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์
กระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศให้ “ปี 2566 เป็นปีแห่งสุขภาพผู้สูงวัยไทย” และมีนโยบายมอบบริการและวัสดุอุปกรณ์เพื่อการดูแลสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งประกอบด้วย 1.การคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในระดับต่างๆ ครอบคลุมผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคน 2.จัดให้โรงพยาบาลทุกระดับของกระทรวงสาธารณสุข มีคลินิกผู้สูงอายุ เพื่อจัดบริการสุขภาพแก่ผู้สูงอายุได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง 3.สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น ต่อการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ได้แก่ แว่นสายตา สำหรับผู้สูงอายุที่มีสายตาสั้นหรือสายตายาว จำนวน 5 แสนราย ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับ และแผ่นเสริมซึมซับการขับถ่าย สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะติดเตียง หรือกลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ จำนวน 5 ล้านชิ้น ฟันเทียมและรากฟันเทียม สำหรับผู้สูงอายุที่สูญเสียฟัน จำนวน 36,000 ราย