ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการอบรมขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม (Care D+) จังหวัดมหาสารคาม มุ่งขับเคลื่อนบุคลากรสาธารณสุข ทำหน้าที่เป็นญาติเฉพาะกิจ มิตรภาพถาวร ทีมเชื่อมประสานใจ
ที่ห้องประชุมตักสิลา อาคารผู้ป่วยนอก ชั้น 4 โรงพยาบาลมหาสารคาม นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการอบรมขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม (Care D+) จังหวัดมหาสารคาม มุ่งพัฒนาศักยภาพการสื่อสารด้านสุขภาพ ให้บุคลากรสาธารณสุขทำหน้าที่เป็นญาติเฉพาะกิจ มิตรภาพถาวร ทีมเชื่อมประสานใจ พร้อมมอบเป็นของขวัญ ปีใหม่ที่กระทรวงสาธารณสุขจะมอบให้กับประชาชน โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามเป็นผู้กล่าวรายงาน มีนายแพทย์ภาคภูมิ นโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม และผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน บุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวนกว่า 500 คน
นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพการสื่อสารด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 13 Quick Win ที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ และจะต้องดำเนินงานให้เห็นผลสัมฤทธิ์ภายใน 100 วัน ซึ่งปัจจุบันนี้การดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชน ไม่ใช่แค่การตรวจรักษา ให้ยา แล้วกลับบ้าน แต่สิ่งที่มีความสลับซับซ้อน มากกว่านั้น คือการดูแลเอาใจใส่ผู้มารับบริการที่กำลังอยู่ในภาวะเจ็บป่วย มีความเปราะบางทางอารมณ์ ที่มีความวิตกกังวล หวาดกลัว ท้อแท้ และสิ้นหวัง หากบุคคลเหล่านั้นได้รับการดูแลเอาใจใส่ ด้วยความเห็นอกเห็นใจ จนทำให้เกิดความมั่นใจในการได้รับการรักษา ก็จะทำให้เกิดความพึงพอใจในการรับบริการ
การจัดโครงการฯ ในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าอบรมฯ ทุกคนจะได้พัฒนาศักยภาพทักษะด้านการสื่อสาร เพื่อช่วยสื่อสารและประสานใจให้แก่ ผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรสาธารณสุข ด้วยความใส่ใจ ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ ต่อกัน ซึ่งเชื่อว่าทีม Care D+ จ.มหาสารคาม จะเป็นส่วนหนึ่งของการลดปัญหา ความขัดแย้ง สร้างความอุ่นใจ ความเชื่อมั่น ให้กับญาติ ผู้ป่วย เป็นอีกหนึ่งของขวัญปีใหม่ที่กระทรวงสาธารณสุขจะมอบให้กับประชาชน
ด้าน ดร.นพ.พิทักษ์พงศ์ พายุหะ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า จากข้อมูลรายงาน ปัญหาความขัดแย้งข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการขาดการสื่อสาร หรือการสื่อสารที่เข้าใจไม่ตรงกัน รวมทั้งการขาดเทคนิคในการบริหารจัดการในสถานการณ์วิกฤติ จนทำให้เกิด การร้องเรียน ฟ้องร้อง ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ ขวัญและกำลังใจของ บุคลากร
ทั้งนี้ จังหวัดมหาสารคาม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นการสื่อสารนี้ และตอบรับนโยบายการสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากร จึงได้ดำเนินการโครงการสร้างทีม Care D+ จังหวัดมหาสารคามขึ้น โดยมีบุคคลากรที่สมัครเข้าร่วมโครงการอบรม ขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม Care D+ ในครั้งนี้ ประกอบด้วย แพทย์ 8 คน, ทันตแพทย์ 6 คน, เภสัชกร 3 คน, พยาบาลวิชาชีพ 89 คน, นักวิชาการสาธารณสุข 38 คน, นักประชาสัมพันธ์ 5 คน และสหวิชาชีพ 17 คน จำนวนทั้งสิ้น 166 คน ครอบคลุมทุกอำเภอ โดยผู้ที่ผ่านการอบรมจะทำหน้าที่เป็นญาติเฉพาะกิจ มิตรภาพถาวร ทีมเชื่อมประสานใจ ในทุกหน่วยบริการสาธารณสุข ของจังหวัดมหาสารคาม เพื่อช่วยสื่อสารและประสานใจให้แก่ผู้ป่วย ญาติ และบุคลากร สาธารณสุข ด้วยความใส่ใจ ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจต่อกัน