รพ.มหาสารคาม รณรงค์วันเบาหวานโลก (World diabetes day) 2018

รพ.มหาสารคาม แนะประชาชนทั่วไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพก่อนป่วยด้วยโรคเบาหวาน เผยรู้เร็วช่วยลดและชะลอ ป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนได้

 

(14-11-2561)  โรงพยาบาลมหาสารคามจัดกิจกรรมการรณรงค์ โครงการให้ความรู้เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนทั่วไปและผู้ป่วยกลุ่มโรคเบาหวาน ปี 2561  ณ  คลินิกเบาหวาน อาคารผู้ป่วยนอก ชั้น 2 โรงพยาบาลมหาสารคาม เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคเบาหวานมากขึ้น ลดการเกิดผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ และกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานรายเก่าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ รวมไปถึงครอบครัวมีส่วนสนับสนุนให้การดูแลผู้ป่วยอันจะนำไปสู่ความผาสุกในชีวิตผู้ป่วยได้อย่างยั่งยืนต่อไปโดย

สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย กิจกรรมการตรวจคัดกรองความเสี่ยงภาวะสุขภาพสำหรับประชาชนทั่วไป การตรวจคัดกรองสายตา จอประสาทตา การตรวจสุขภาพฟัน การตรวจเท้า สำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานกิจกรรมการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน โดยอายุรแพทย์  การให้ความรู้ด้านการใช้ยา โภชนาการ การออกกำลังกาย โดยทีมสหาวิชาชีพ กิจกรรมการสาธิตอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยโภชนากร กิจกรรมการแลกเปลี่ยนร่วมตอบปัญหาและแจกรางวัลที่ระลึก

แพทย์หญิงยุคุณธร  ท่าพิมาย อายุรแพทย์ รพ.มหาสารคาม เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันเบาหวานโลก (World diabetes day) และกำหนดประเด็นการรณรงค์วันเบาหวานโลก ในปี 2561 คือ “The Family and Diabetes” สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข และสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยได้กำหนดประเด็นในการรณรงค์วันเบาหวานโลกปี 2561 ให้สอดคล้องกับสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ คือ “เพราะครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการรักษาเบาหวาน”

ทั้งนี้ข้อมูลรายงานสถานการณ์ความรุนแรงของโรคเบาหวาน พบว่า โรคเบาหวานเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลกปัจจุบันความชุกของโรคเบาหวานทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติรายงานว่าในปี 2560 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลก 425 ล้านคน และคาดว่าในปี 2588 ผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 629 ล้านคน องค์การอนามัยโลกได้ระบุว่าผู้ป่วยเบาหวานจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปี 2030 และจะมีผู้เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานเป็น 3.2 ล้านคน ในแต่ละปีคิดเป็น 6 คน ในทุกๆ 1 นาที และส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป

ในส่วนประเทศไทย จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 ในปี 2557 พบว่า ความชุกของโรคเบาหวานของประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เท่ากับร้อยละ 8.9 หรือ คิดเป็นผู้ป่วยเบาหวาน 4.8 ล้านคน  เพิ่มจากปี 2552 ร้อยละ 6.9 หรือ คิดเป็นผู้ป่วยเบาหวาน 3.2 ล้านคน ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานร้อยละ 43.2 ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยมาก่อนและไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นเบาหวานและมากกว่าร้อยละ 70 ของการเสียชีวิตทั้งหมดมีสาเหตุจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังรวมถึงโรคเบาหวาน ปัจจุบันประชาชน 1 ใน 2 คนที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน การวินิจฉัยและการรักษาระยะแรกเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานอันจะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีและครอบครัวมีอิทธิพลต่อโรคเบาหวานโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใส่ใจดูแลถึงสัญญาณเตือน อาการ และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาระยะเริ่มแรกดังนั้นหากผู้ป่วยเบาหวานสามารถดูแลตนเองได้อย่างถูกต้อง ตั้งแต่ระยะแรกจะช่วยลดและชะลอ หรือป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ หากไม่ควบคุมพฤติกรรมการกิน และปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต ไม่ใส่ใจการออกกำลังกายก็จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวาน ต้องเผชิญกับโรคแทรกซ้อนเพิ่มมากขึ้น  เช่น  โรคหลอดเลือดสมอง  และโรคไต จนทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้