รพ.มหาสารคาม ร่วมออกหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) บริการประชาชนในพื้นที่ โรงเรียนบ้านใคร่นุ่น  ตำบลท่าขอนยาง  อำเภอกันทรวิชัย

(28-11-2566)  ที่บริเวณโรงเรียนบ้านใคร่นุ่น  ตำบลท่าขอนยาง  อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม  นายแพทย์ภาคภูมิ  มโนสิทธิศักดิ์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม  พร้อมคณะด้วยคณะบุคลากร ร่วมโครงการปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ และหน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน (จังหวัดเคลื่อนที่) และออกหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) บริการประชาชนในพื้นที่ อำเภอบรบือ  โดยมีนายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม  เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ให้บริการประชาชน ในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประกอบด้วย หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หน่วยทันตกรรม หน่วยแพทย์แผนไทย และ หน่วยให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ โดยมีประชาชนในพื้นที่ และตำบลใกล้เคียงเข้ารับบริการ

รพ.มหาสารคาม ต้อนรับคณะศึกษาดูงานการผลิตยาสมุนไพรมาตรฐาน WHO-GMP

รพ.มหาสารคาม ต้อนรับคณะศึกษาดูงานด้านการผลิตยาสมุนไพรมาตรฐาน WHO-GMP จากโรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม

  แพทย์หญิงจรัญญา  จุฬารี  รองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิ โรงยาบาลมหาสารคาม  ดร.ภก.อดิศักดิ์ ถมอุดทา เภสัชกรชำนาญการพิเศษ หัวหน้างานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมคณะบุคลากร ร่วมต้อนรับพันเอกหญิงณัฐชานันท์ ประภาสสันติกุล หัวหน้ากองเภสัชกรรม พร้อมบุคลากรและนักศึกษาเภสัชกร โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม เนื่องในโอกาสมาศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้งานด้านมาตรฐานการผลิตยาสมุนโพร กระบวนการผลิตยาที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน WHO-GMP ณ โรงงานผลิตยาสมุนไพรจัมปาศรี โรงพยาบาลมหาสารคาม เพื่อเป็นแนวทางพัฒนางานด้านเภสัชกรรมของหน่วยงาน 

  แพทย์หญิงจรัญญา  จุฬารี  รองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิ โรงยาบาลมหาสารคาม เปิดเผยว่า โรงงานผลิตยาสมุนไพรจัมปาศรี โรงพยาบาลมหาสารคาม  ผลิตยาสมุนไพรไทยด้วยมาตรฐานขั้นสูง  ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน WHO-GMP มีการควบคุมคุณภาพ ตามมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ISO 17025 ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี 

  ปัจจุบันผลิตยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในการรองรับระบบบริการโรงพยาบาลมหาสารคาม และเครือข่าย 21 แห่ง ตลอดจนโรงพยาบาลในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 และใกล้เคียง มีศักยภาพผลิตทั้งยาน้ำ ยาใช้ภายนอก ยาแคปซูล/ยาตำรับ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่าง ๆ ทั้งหมดจำนวน 60 ชนิด  มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการคลัง และระบบการซื้อขายที่โปร่งใส ทันสมัย และสนับสนุนการใช้วัตถุดิบซึ่งเป็นพืชสมุนไพรโดยเน้นกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ จ.มหาสารคาม เป็นหลัก พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมโดยบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภายใต้โครงการพัฒนาเมืองสมุนไพรจังหวัดมหาสารคาม (Herbal City of Mahasarakham) 

  ด้านพันเอกหญิงณัฐชานันท์ ประภาสสันติกุล หัวหน้ากองเภสัชกรรม โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม เปิดเผยว่า โรงพยาบาลมหาสารคาม เป็นโรงพยาบาลที่มีการผลิตยาสมุนไพรที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานขั้นสูง เป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไป มีอาคาร อุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยมีมาตรฐาน ทั้งยังมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญในด้านการผลิต และควบคุมคุณภาพ เป็นหน่วยงานที่เหมาะสมที่บุคลากรทางการแพทย์ ในสายงานเภสัชกรรมการผลิต สมควรเข้าศึกษาเรียนรู้ เพื่อเพิ่มพูนทักษะแลประสบการณ์ให้หน่วยงาน ตลอดจนถือเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือในอนาคตอีกด้วย 

ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ชวนบริจาคโลหิต เพื่อต่อชีวิตมนุษย์

นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ร่วมบริจาคโลหิตเพื่อเป็นโลหิตสำรองไว้สำหรับรักษาผู้ป่วยภายในโรงพยาบาล และผู้ป่วยฉุกเฉิน ตลอดจนเตรียมความพร้อมให้มีโลหิตสำรอง เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยทั้งในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและใกล้เคียง

ผู้ที่สนใจสามารถบริจาคได้ในวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.00 น. เสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30 – 16.00 น. ที่ธนาคารเลือด ชั้น 2 อาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาสารคาม สอบถามเพิ่มเติม โทร. โทร.043723355 ต่อ 9118

โรงพยาบาลมหาสารคาม พร้อมด้วยเครือข่าย CUP เมือง ร่วมต้อนรับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเครือข่ายบริการสุขภาพ

 

(17-11-2566)  นายแพทย์ภาคภูมิ  มโนสิทธิศักดิ์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม  พร้อมด้วยผู้บริหาร ร่วมต้อนรับ  ดร.นพ.พิทักษ์พงศ์ พายุหะ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม  ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเครือข่ายบริการสุขภาพระดับ CUP เมือง เพื่อติดตามผล และมอบนโยบายในการดำเนินงาน ในด้านแผนยุทธศาสตร์ CUP และเป้าหมาย LE/HALE ของอำเภอ ปี 2567-2570   ข้อมูลบุคลากรของ CUP และจำนวนที่ขาดตามแผนบุคลากร  เป้าหมายการพัฒนาระบบบริการของโรงพยาบาล ปี 2567-2570   แผนเงินบำรุงของโรงพยาบาล ผลงานเด่นของ CUP เมืองมหาสารคาม

 

รพ.มหาสารคาม ขอสดุดีผู้วายชนม์ และครอบครัวผู้บริจาคอวัยวะและดวงตา

บุญกุศลอันยิ่งใหญ่….รพ.มหาสารคาม ขอสดุดีผู้วายชนม์ และครอบครัวผู้บริจาคอวัยวะและดวงตา ที่ช่วยเหลือผู้ป่วยที่รอความหวังเปลี่ยนอวัยวะ
โดยครั้งนี้ผู้ป่วยเป็นชายอายุ 78 ปี ซึ่งมีภาวะเลือดออกในสมองจากอุบัติเหตุจราจร ต่อมาได้เสียชีวิต
ทั้งนี้ครอบครัวและญาติได้เข้าใจและยินยอมบริจาคดวงตาและอวัยวะทุกส่วนที่ใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งสภากาชาดไทย ประเมินอวัยวะที่ใช้ได้ คือ ดวงตา 2 ดวง โดยทีมจัดเก็บดวงตาได้เข้าผ่าตัดจัดเก็บในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เวลา 21.20 น. และรับอวัยวะเพื่อนำไปใช้ปลูกถ่ายช่วยชีวิตผู้ป่วยที่กำลังรอความหวัง ซึ่งถือเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้าย ให้แก่ผู้วายชนม์
ในโอกาสนี้ คุณวไลพร ปักเคระกา รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล พร้อมคณะ บุคลากรศูนย์รับบริจาคอวัยวะโรงพยาบาลมหาสารคาม และสมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกันมอบหรีดเคารพศพแก่ครอบครัวผู้บริจาคอวัยวะ เพื่อขอบพระคุณในบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้

รพ.มหาสารคาม จับมือ ม.ราชภัฏมหาสารคาม Kick Off ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV เยาวชนหญิงสุขภาพดี ปลอดมะเร็ง

รพ.มหาสารคาม จับมือ ม.ราชภัฏมหาสารคาม Kick Off การรณรงค์สร้างภูมิป้องกัน HPV เยาวชนหญิงสุขภาพดี ปลอดมะเร็ง พร้อมรณรงค์ให้หญิงไทยที่มีอายุระหว่าง 11 – 20 ปี ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ณ สถานพยาบาลใกล้บ้าน
ที่ห้องประชุมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม จ.มหาสารคาม นายแพทย์ประเสริฐ ศรีสารคาม รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ แพทยฺหญิงจรัญญา จุฬารี รองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิ ร่วมกันเปิดกิจกรรมความร่วมมือขับเคลื่อนนโยบายมะเร็งครบวงจร Kick Off การรณรงค์สร้างภูมิป้องกัน HPV เยาวชนหญิงสุขภาพดี ปลอดมะเร็ง “Save Our Children by 1 Million HPV Vaccines” โดยมีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม คณาจารย์ และบุคลากรสาธารณสุขจาก รพ.มหาสารคามเข้าร่วมจำนวนกว่า 200 คน
ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าว สอดคล้องกับ นโยบายกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” ที่ครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริม ป้องกัน คัดกรอง วินิจฉัย รักษา และดูแลฟื้นฟูกายใจ โดยเฉพาะมะเร็งที่เป็นปัญหาสำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันและตรวจคัดกรองความเสี่ยงได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง
สำหรับมะเร็งปากมดลูก พบเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทยที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี ในปี 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 9,000 ราย และพบผู้เสียชีวิตประมาณ 4,700 ราย สาเหตุมาจากการติดเชื้อ Human Papilloma Virus หรือ HPV ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยเฉพาะหากฉีดตั้งแต่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์จะมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 93-95 ส่งผลให้ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกใน 10-20 ปีข้างหน้าได้
ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ในผู้หญิงอายุ 11 – 20 ปี ทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อลดการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก โดยกำหนดเป้าหมายการฉีด 1 ล้านเข็ม ภายใน 100 วัน ตามนโยบายยกระดับ 30 บาท และ Quick Win “มะเร็งครบวงจร – วัคซีน HPV” โดยการขับเคลื่อน Quick Win 100 วันแรก จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ในหญิงไทยที่มีอายุระหว่าง 11 – 20 ปี จำนวน 1 ล้านโดส เพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนในกลุ่มนักเรียน ให้มีภูมิคุ้มกัน ลดอาการป่วย และการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกในอนาคต
สำหรับนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่อายุตั้งแต่ 11 – 20 ปีทุกคน สามารถรับวัคชีน HPV ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อป้องกันมะเร็งในสตรีไทย ตามสโลแกน “สวยเริด เชิด สู้มะเร็ง” หรือ “Women Power No Cancer” ซึ่งในวันนี้กลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ถือเป็นประชาชนกลุ่มเป้าหมายกลุ่มแรกที่ได้รับบริการรฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV

ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาสารคาม จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาความร่วมมือร้อยแก่นสารสินธุ์ (Four become one)

ที่ ห้องประชุมกัลปพฤกษ์ ชั้น 3 ศูนย์แพทยศาสตศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาสารคาม แพทย์หญิงเบญจมาศ ดวงคำน้อย ผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลมหาสารคาม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และบุคลากร ร่วมต้อนรับคณะผู้บริหารจากศูนย์แพทยศาสตศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์
และผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในโอกาสเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาความร่วมมือร้อยแก่นสารสินธุ์ (Four become one) เพื่อพัฒนาความร่วมมือกันระหว่าง สถาบันหลักทั้ง 2 แห่ง และศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกทั้ง 4 แห่ง จะก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง สามารถพัฒนาศักยภาพในการผลิตบัณฑิตได้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น และร่วมพัฒนาองค์ความรู้ด้านแพทยศาสตรศึกษา การวิจัย และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ให้มีความเชื่อมโยงและเป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างอาจารย์แพทย์ นักศึกษาแพทย์ และบุคลากรสายสนับสนุน

 

รพ.มหาสารคาม ร่วมประชุมประชาคม กำหนดความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะ ชุมชนบ้านส่อง

เทศบาลเมืองมหาสารคาม และ โรงพยาบาลมหาสารคาม จัดการประชุมประชาคมหมู่บ้าน/ชุมชนเพื่อกำหนดความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณประโยชน์ ชุมชนบ้านส่อง
ที่วัดบูรพารามส่องใต้ ตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม แพทยฺหญิงจรัญญา จุฬารี รองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิ คุณกัญตา คำพอ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร พร้อมคณะแพทย์ พยาบาล และบุคลากรโรงพยาบาลมหาสารคาม ร่วมการประชุมประชาคมหมู่บ้าน/ชุมชนเพื่อกำหนดความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณประโยชน์ โดยปรากฏตามหลักฐานหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) เลขที่ 46846 ตั้งอยู่บ้านส่อง ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เนื้อที่ทั้งหมด 4-1-40 ไร่ ซึ่งพื้นที่นี้ปัจจุบันมีส่วนหนึ่งได้ใช้เป็นที่ตั้งของศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองบ้านส่องนางใย เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่
สำหรับการประชุมประชาคมครั้งนี้ มีนายภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจากเทศบาลเมืองมหาสารคาม ผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมเสนอข้อคิดเห็น และเสนอแนวทางกำหนดความเหมาะสมให้ส่วนราชการเข้าใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวร่วมกัน จำนวนมากกว่า 100 คน
ทั้งนี้ การจัดสรรพื้นที่ให้มีความเหมาะสม จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในพื้นที่ และเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามระเบียบกฎหมายกำหนด จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการขอถอน สภาพที่ดินพื้นที่จากพื้นที่เลี้ยงสัตว์เป็นสวนสาธารณะมาเป็นที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในราชการ โดยผ่านความเห็นชอบจากประชาคมหมู่บ้าน/ชุมชน และเสนอต่อคณะทำงานกำหนดความเหมาะสมการใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ระดับอำเภอพิจารณาต่อไป

โรงพยาบาลมหาสารคาม ประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 10-2566

โรงพยาบาลมหาสารคาม ประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 10-2566
ที่ห้องประชุมตักสิลา ชั้น 4 อาคารผู้ป่วยนอก นายแพทย์ภาคภูมิ นโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 10/2566 เพื่อติดตามผลการดำเนินงานในรอบเดือนที่ผ่านมา โดยมีคณะกรรมการบริหารร่วมประชุมรับฟังพร้อมนำนโยบายที่ได้รับถ่ายทอด นำสู่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนางานด้านการให้บริการและด้านต่าง ๆ ของโรงพยาบาลมหาสารคาม (03-11-2566)

รพ.มหาสารคาม ร่วมต้อนรับนายแพทย์สาธารณสุข จ.มหาสารคามคนใหม่ ด้วยความยินดียิ่ง

รพ.มหาสารคาม ร่วมต้อนรับ ดร.นพ.พิทักษ์พงศ์ พายุหะ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามคนใหม่ ด้วยความยินดียิ่ง

นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร โรงพยาบาลและบุคลากร ร่วมต้อนรับ ดร.นพ.พิทักษ์พงศ์ พายุหะ  เนื่องในโอกาสได้ย้ายมาปฏิบัติราชการ ณ จังหวัดมหาสารคาม ดำรงตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิรินธร จ.ขอนแก่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บุคลากรสาธารณสุขภายในจังหวัด กลุ่มองค์กรต่าง ๆ มาร่วมต้อนรับ และแสดงความยินดีเป็นจำนวนมาก ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่น ณ ห้องประชุมมารินทร์ จังหวัดมหาสารคาม (2 พย. 2566)