รพ.มหาสารคาม ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC)

รพ.มหาสารคาม ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ติดตามการบริหารจัดการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 และการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่

ที่ห้องประชุม จัมปาศรี ชั้น 4 อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมหาสารคาม นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมหาสารคาม พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหาร รพ.มหาสารคาม และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมศูนย์ ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) โรงพยาบาลมหาสารคาม เพื่อติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ และติดตาม ความก้าวหน้าบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประชาชนกลุ่มเป้าหมาย โดยที่ประชุมได้แจ้งความคืบหน้าการดำเนินการฉีควัคซีน ไฟเซอร์ เพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 แก่กลุ่มนักเรียนและเยาวชน โดยมีการเปิด walk in บริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์สำหรับนักเรียน หรือผู้ที่มีอายุ 12-17 ปี ที่มีทะเบียนบ้านในเขตอำเภอเมือง จ.มหาสารคาม หรือ ศึกษาในอำเภอเมืองมหาสารคาม

ทั้งนี้ได้เปิดบริการระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2564  ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ม.ราชภัฏมหาสารคาม ตั้งแต่เวลา 8.00-14.00 น. โดยนักเรียนและเยาวชนที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนต้องนำ ใบยินยอมการฉีดวัคซีนจากผู้ปกครอง พร้อมบัตรประชาชน หรือ บัตรนักเรียน หรือ ใบรับรองการศึกษามาด้วย

วัคซีน

รพ.มหาสารคาม ฉีดวัคซีนไฟเซอร์นักเรียน 12 ปีขึ้นไปเขตอำเภอเมือง สร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19

มหาสารคาม –ฉีดวัคซีนไฟเซอร์นักเรียน 12 ปีขึ้นไปเขตอำเภอเมือง สร้างภูมิคุ้มกันให้นักเรียนและเยาวชนสกัดโควิด-19
ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ได้จัดกิจกรรม ” KICK OFF สร้างเกราะป้องกันด้วยวัคซีน เด็กปลอดภัย เรียนอุ่นใจ ต้อนรับเปิดเทอม” หวัง สร้างภูมิคุ้มกันให้นักเรียนและเยาวชนในพื้นที่ของจังหวัดมหาสารคามปลอดภัย ก่อนที่จะมีการเปิดเทอมใหม่ในช่วยเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ โดยเป็นการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ให้กับเด็กอายุ 12 -18 ปี อย่างเป็นทางการวันแรกพร้อมกันทั่วประเทศ โดยมี นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม มี นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม นายกฤต สุวรรณพรหม ศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม นายแพทย์ประเสริฐ ศรีสารคาม รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ โรงพยาบาลมหาสารคาม ผู้บริหารหน่วยงานทางการศึกษาของจังหวัดมหาสารคาม บุคลากรทางการแพทย์เข้าร่วม
ด้าน นายแพทย์ประเสริฐ ศรีสารคาม รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ โรงพยาบาลมหาสารคาม กล่าวว่า สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับ สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม และโรงพยาบาลมหาสารคาม ดำเนินการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ป้องกันโควิด-19 แก่นักเรียนที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี ที่สมัครใจฉีดวัคซีนและได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองมหาสารคามจำนวน 21,477 คน โดยในวันนี้เป็นนักเรียนกลุ่มแรกในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม ซึ่งจะนัดในช่วงเดือนตุลาคม 2564 แบ่งเป็น นักเรียนจากโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคามและนักเรียนจากโรงเรียนสารคามพิทยาคม รวมจำนวน 900 คน ซึ่งในเบื้องต้นให้นักเรียนชายฉีดวัคซีน 1 เข็ม ขณะที่นักเรียนหญิงจะให้ฉีดวัคซีน 2 เข็ม โดยเข็ม 1 และเข็ม 2 จะเว้นระยะเวลา 3 สัปดาห์ ตามแนวทางการฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข
ในส่วนขั้นตอนการฉีดวัคซีน โรงพยาบาลมหาสารคาม ได้นำวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับการจัดสรรจากกระทรวงสาธารณสุข จัดเก็บตามกระบวนการมาตรฐาน ควบคุมอุณหภูมิอยู่ที่ 2 – 8 องศาเซลเซียส และนำมาฉีดให้กับนักเรียนโดยมีแพทย์ พยาบาล เภสัชกรดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งก่อนและหลังการฉีดวัคซีน ตลอดจนได้ควบคุมอุณหภูมิสถานที่ฉีดวัคซีนที่ 25 องศาเซลเซียสอีกด้วย นอกจากนี้ โรงพยาบาลมหาสารคามขอความร่วมมือให้ผู้ได้รับการฉีดวัคซีน โปรดลงข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์ในแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” เพื่อเป็นฐานข้อมูลรายงานติดตามอาการที่ไม่พึงประสงค์ ที่อาจจะเกิดกับผู้ที่รับวัคซีนไปแล้ว และผู้ได้รับการฉีดวัคซีน สามารถตรวจสอบข้อมูลหลักฐานการฉีดวัคซีนผ่าน “หมอพร้อม” ตลอดจนคำแนะนำการปฏิบัติตัวหลังฉีดวัคซีนตลอดจนข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้อีกด้วย

โรงพยาบาลมหาสารคาม บริการฉีดวัคซีนโควิด – 19 เนื่องใน “วันมหิดล” ประจำปี 2564

โรงพยาบาลมหาสารคาม บริการฉีดวัคซีนโควิด – 19 เนื่องใน “วันมหิดล” ประจำปี 2564

ที่ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม โรงพยาบาลมหาสารคามเปิดให้บริการฉีดวัคซีนโควิด – 19 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องใน “วันมหิดล”ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กันยายน 2564 ในกลุ่มประชาชนอายุ 18 ปี ขึ้นไป ที่ลงทะเบียนขอรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ล่วงหน้า และประชาชนทั่วไปที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ที่มีทะเบียนบ้านในเขต อ.เมืองมหาสารคาม

ทั้งนี้ บรรยากาศการให้บริการตลอดทั้งวันเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ณ จุดฉีดวัคซีนสำหรับประชาชนทั่วไป และบริการฉีดวัคซีนบนรถ (drive thru) แก่ผู้สูงอายุ รวมทั้งสิ้นจำนวน 3,355 คน โดยมีนายแพทย์ประเสริฐ ศรีสารคาม รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ และ แพทย์หญิงจรัญญา จุฬารี รองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลมหาสารคาม ร่วมปฏิบัติหน้าที่ให้บริการประชาชนและมอบกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน

สำหรับ วันที่ 24 กันยายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “พระบิดาของการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 1 ล้านโดส เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชาชนทั่วประเทศ

รพ.มหาสารคาม ร่วมกับเทศบาลเมืองมหาสารคาม ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เชิงรุกในชุมชน

โรงพยาบาลมหาสารคาม ร่วมกับเทศบาลเมืองมหาสารคาม จัดกิจกรรมวัคซีนสู้โควิด บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชนในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองมหาสารคาม 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1. ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป  2.ผู้ที่ตั้งครรภ์  และ 3.กลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ได้แก่  1.โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง  2.โรคหัวใจและหลอดเลือด  3.โรคไตเรื้อรัง  4.โรคหลอดเลือดสมอง  5.โรคมะเร็ง ที่อยู่ระหว่างการบำบัด  6.โรคเบาหวาน  7.โรคอ้วน ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร  โดยใช้สถานที่โรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร  มีประชาชนให้ความสนใจมารับบริการจำนวนกว่า 169 ราย นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ได้มีบริการฉีดวัคซีนถึงบ้าน ให้กับผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุพื้นที่ชุมชนบูรพาและชุมชนบ้านส่องนางใยที่ไม่สามารถเดินทางมาได้จำนวน 22 ราย ซึ่งถือเป็นบริการเชิงรุก อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้ได้รับบริการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง เพื่อลดอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19

สำหรับการฉีดวัคซีนครั้งนี้ ได้ระดมบุคลากรจากโรงพยาบาลมหาสารคาม และเจ้าหน้าที่จาก 4 ศูนย์แพทย์ คือ ศูนย์แพทย์ชุมชนเมืองมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม  ศูนย์แพทย์ชุมชนเมืองสามัคคี ศูนย์แพทย์ชุมชนเมืองบูรพา ศูนย์แพทย์ชุมชนเมืองบ้านส่องนางใย ปฏิบัติหน้าที่ฉีดวัคซีนและดูแลสุขภาพประชาชน อีกทั้งได้รับความร่วมมือจาก อสม. เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองมหาสารคาม เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองมหาสารคาม และจิตอาสา ร่วมบริการให้ข้อมูล อำนวยความสะดวกประชาชน ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีนายแพทย์ประเสริฐ ศรีสารคาม รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ โรงพยาบาลมหาสารคาม เดินทางมาตรวจเยี่ยมและมอบกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน

รพ.มหาสารคาม ร่วมส่งบุคลากรสนับสนุนภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขในการค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 พื้นที่กรุงเทพฯ

(2-8-2564)  นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ร่วมมอบช่อดอกไม้เป็นกำลังใจให้แก่บุคลากรที่เข้าร่วมสนับสนุนภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข ในการค้นหาผู้ติดเชื้อโคโรนา 2019 ด้วยชุดตรวจ  Antigen Test Kit (ATK) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีความทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง  พร้อมทั้งสนับสนุนการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ และส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรับการดูแล Home Isolation ต่อไป ซึ่งบุคลากรที่ร่วมสนับสนุนภารกิจรายชื่อดังต่อไปนี้

1.นายมานพ โพธิ์รัตน์    นักเทคนิคการแพทย์ปฏิบัติการ

2.นายกฤษดา น้อยสุวรรณ   นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ

3.นายศิวกร แสนยะมาตย์   นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ

4.นางสวาณัฐจิรา อัปปะมะโน  นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ

และ 5.นายชัยพฤกษ์  ไชยรัตน์  พนักงานขับรถ

 

รพ.มหาสารคาม ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC)

(31-05-64) ที่ห้องประชุมจัมปาศรี ชั้น 4 รพ.มหาสารคาม นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการ รพ.มหาสารคาม คณะแพทย์ผู้ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหาร รพ.มหาสารคาม และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) โรงพยาบาลมหาสารคาม เพื่อติดตามสถานการณ์การพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จ.มหาสารคาม และวางแผนการจัดการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ภายในหอผู้ป่วยเฉพาะโรค และโรงพยาบาลสนามริมห้วย และการบริหารจัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชนเขตพื้นที่ อ.เมืองมหาสารคาม ในเดือนมิถุนายน 2564 นี้ โดยใช้พื้นที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

นพ.ไพบูลย์ อัศวธนบดี บริจาคเงิน 20,000 บาท สนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลมหาสารคาม

(1-2-2564)  นายแพทย์สุดชาย เลยวานิชย์เจริญ  รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมหาสารคาม รับมอบเินบริจาคจำนวน 20,000 บาท จากนายแพทย์ไพบูลย์ อัศวธนบดี อดีตรองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิโรงพยาบาลมหาสารคาม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลมหาสารคาม พร้อมกันนี้ยังได้บริจาคอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 ระลอกที่ 2 ของจังหวัดมหาสารคามอีกด้วย

 

โควิด-19

หุงข้าวซ้อมมือหอมมะลิวิถีธรรม แจกบุคลากร รพ.มหาสารคาม

มูลนิธิแพทย์วิถีธรรมแห่งประเทศไทย และภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัดมหาสารคาม หุงข้าวซ้อมมือหอมมะลิวิถีธรรม แจกบุคลากรโรงพยาบาลมหาสารคาม เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ในช่วยการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

โควิด-19

ที่กลุ่มงานสุขศึกษา โรงพยาบาลมหาสารคาม แพทย์หญิงธนพร มุทาพร รองผู้อำนวยการฝ่ายจริยธรรม โรงพยาบาลมหาสารคามเป็นประธานในการแจกข้าวซ้อมมือหอมมะลิวิถีธรรม ซึ่งหุงสุก สดใหม่ แจกให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ตามโครงการแบ่งปันด้วยหัวใจบริสุทธิ์ ซึ่งข้าวทั้งหมดได้รับสนับสนุน จากมูลนิธิแพทย์วิถีธรรมแห่งประเทศไทย โดยประธานมูลนิธิ ดร. ใจเพชร กล้าจน หมอเขียว สำหรับข้าวซ้อมมือหอมมะลิ ที่หุงในวันนี้ได้แจกให้บุคคลากรภายในโรงพยาบาลหลายหน่วยงาน อาทิ หน่วยงานจ่ายกลาง กลุ่มการพยาบาลชุมชน หอผู้ป่วยอายุกรรมทองดีชั้น 4 และชั้น 5 รวมกว่า 200 คน ซึ่งบุคลากรทั้งหมดต่างนำอุปกรณ์ ภาชนะจาน ชาม ถ้วย หม้อมาใส่ข้าวหุงเอง โดยไม่มีการนำถุงพลาสติกมาใส่หรือห่อกลับไป ถือเป็นการช่วยลดประมาณขยะ ประหยัดพลังงาน ลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย

นางอรณต วัฒนะหัวหน้ากลุ่มงานสุขศึกษา ผู้ประสานงานจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า โครงการนี้หวังจุดประกายให้เกิดกระแสความเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือ และแบ่งปันสุขแบ่งเบาทุกข์ด้วยใจบริสุทธิ์ โดยการหุงข้าวเพื่อนำมาแจกได้รับความร่วมมือจาก รองนายสถานีวิทยุ อสมท. จังหวัดมหาสารคาม และจะจับมือกับเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่กำลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ด้าน แพทย์หญิงธนพร มุทาพร รองผู้อำนวยการฝ่ายจริยธรรม โรงพยาบาลมหาสารคาม กล่าวว่า ขอขอบคุณน้ำใจจากทุกภาคส่วนที่ได้นำข้าวหุงสุกมาแจกแก่บุคคลากรโรงพยาบาล ถือกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และเป็นการส่งเสริมให้บริโภคข้าวปลอดภัย ทำให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานการระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาด ในนานบุคลากรโรงพยาบาลบมหาสารคามขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน มีความสุขกาย สบายใจ เป็นอยู่ผาสุขตลอดไป

รพ.มหาสารคาม เสริมศักยภาพ เตรียมความพร้อมรับมือโควิด-19

 

นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม พร้อมด้วยบุคลากรร่วมศึกษาวิธีการใช้งาน ชุดเต็นท์แคปซูลความดันลบ เพื่อใช้สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคทางเดินหายใจ  ซึ่งชุดเต็นท์แคปซูลความดันลบ สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่สงสัย หรือผู้ป่วยติดเชื้อโรคที่สามารถแพร่กระจายเชื้อทางระบบทางเดินหายใจหรือทางอากาศ เช่น ไข้หวัดนก, ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009, SARS, โควิด-19 เป็นต้น  รวมถึงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อจากที่หนึ่งไปรักษายังอีกที่หนึ่งทางรถเข็นหรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยรถพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลมหาสารคามได้จัดซื้อจำนวน 2 ชุด  เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการป้องกันการติดเชื้อจากผู้ป่วย ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น